๔. ราก หรือ ลาก
“จิตวิญญาณของคนเราเหมือนรากต้นไม้” นี่เป็นข้อธรรมะที่อาจารย์หยิบยกมาสอนเราอีกข้อหนึ่ง อาจารย์สอนว่า “จิตของเราชอบยึดชอบเกาะ ลากสิ่งโน้น สิ่งนี้ เข้ามาในใจเรา สิ่งที่ลากมามักจะเป็นสิ่งที่ทำให้ใจขุ่นมัว เป็นทุกข์ สิ่งที่ทำให้ใจใส ใจสบาย ไม่เห็นค่อยลากกันมาบ้างละ” ดิฉันนั่งฟังและคิดตามอาจารย์ไปด้วยก็ตอบตัวเองว่า “เออ จริง แฮะ” อาจารย์อธิบายต่ออีกว่า “บางคนแค่เห็นหน้าก็ไม่ชอบหน้าแล้ว แล้วก็เก็บมาเป็นทุกข์เพราะไม่ชอบ บางคนได้ยินแค่เสียงของเขา ใจก็เป็นทุกข์แล้ว” อาจารย์แนะนำให้ทำตัวเป็นรากลอยเหมือนรากไทร แต่ไม่ใช่รากกล้วยไม้อย่างที่ดิฉันตอบ เพราะรากไทรแข็งแรง และอยู่ได้นานกว่ารากกล้วยไม้ รากลอยไม่ยึดติดกับสิ่งใด จึงมีจิตใจที่ใส และมีสติ
ดิฉันคิดว่าการทำให้จิตใจเป็นรากลอยนี้ พูดง่าย แต่ทำยากมากๆ จะทำได้อย่างไรที่จะหักห้ามใจไม่ให้ห่วงลูก ห่วงสามี ห่วงคุณตาคุณยาย หรือห่วงหน้าที่การงาน จะหลอกจิตอย่างไรเขาจึงจะหลุดพ้นจากการเป็นหัวเผือกหัวมันที่ยึดอยู่ใต้ดิน เปลี่ยนมาเป็นต้นหญ้าบนพื้นดิน และเข้มแข็งจนเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีรากลอยอยู่ในอากาศ
ถ้าจะให้ดิฉันวิเคราะห์วิธีการที่จะทำให้หลุดพ้นจากตรงนี้ ดิฉันคิดว่าน่าจะ (น่าจะเท่านั้นนะคะ) ทำได้โดย (๑) การเลี้ยงลูกแบบนก (๒) ยอมรับว่าความเป็น พ่อ แม่ ลูก นั้น เป็นแค่เพียงญาติกายกันเท่านั้น (๓) เข้าใจว่าคนเราประกอบไปด้วย กายสังขารและจิตวิญญาณ กายสังขารดับสูญแตกสลายได้แต่จิตวิญญาณไม่ดับสูญ จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ไปเรื่อยไม่รู้จักจบสิ้นเพราะเวรและกรรมที่สร้างไว้ ดังนั้นต้องยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลเป็นเพราะบุญทำกรรมแต่ง เราคงช่วยอะไรไม่ได้มาก คนที่จะช่วยพวกเขาเหล่านั้นได้ก็คือตัวของเขาเองเป็นอันดับแรก เหมือนคนป่วยนะคะ เรากินยาแทนเขา ให้หมอฉีดยาที่ตัวเราแทนเขา ก็ช่วยเขาไม่ได้ เราทำได้แค่เพียงชี้ทางสว่างให้ โดยเริ่มจากทำบุญ สวดมนต์ให้ตัวเองก่อน เราจึงจะมีบุญพอที่จะแบ่งให้คนอื่นหรือสิ่งอื่นๆที่คิดว่าเป็นเวรเป็นกรรมกับเรา
นอกจากการแก้กรรมแล้ว เรายังต้องไม่ทำกรรมเพิ่มด้วย โดยการให้อาหารแก่จิตของเรา (นั่นคือการคิดที่เป็นทุกข์ต่างๆ) ถ้าเราให้อาหารจิตเช่นนั้นบ่อยๆจิตของเราจะเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ขุ่นมัว แต่ถ้าเราไม่ยึดติดให้เป็นทุกข์ ได้ยินได้เห็นอะไรก็ให้รับรู้ว่าได้ยินได้เห็นแล้วก็ผ่านไป ไม่ใช้วาจาที่เป็นเวรเป็นกรรม ทั้งตัวเราและผู้อื่น จิตเราก็จะไม่มีอาหารที่เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้าเกาะได้ จิตจะมีแต่ความใส ความว่าง สติ ก็จะเกิด ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดๆ และความหลุดพ้นก็จะตามมาในที่สุด อาจารย์ย้ำเสมอว่าไม่ให้เชื่อ ให้ลองปฏิบัติดูว่าเป็นอย่างไร
ดิฉันลองคิดดูว่าคนอย่างเราจะสร้างเวรสร้างกรรมในชาตินี้อย่างไรกันบ้าง เราคงไม่ฆ่า ปล้น ทุบตีใครให้เป็นกรรม ส่วนใหญ่กรรมของเราจะเป็นวาจากรรม คือกรรมจากการพูดของเรา ดิฉันลองคิดเอาคำสอนนี้ไปประยุกต์ในการทำงานของดิฉัน ดิฉันเป็นครู ต้องบ่นต้องว่าลูกศิษย์อยู่แล้ว ที่ทำเนี่ยก็เพราะเราอยากให้เขาได้ดี ไม่มีอคติใดๆเคลือบแฝง แต่จิตใจเราซิ (ดีใจเลยเพราะได้อาหารอร่อยๆ)ต้องขุ่นมัว เป็นกังวลแน่นอน บางครั้งอาจถึงขั้นเลือดลมในกายเดือดพล่านความดันขึ้น ถ้าจิตผูกติดคิดเป็นห่วงนักศึกษามากๆ คราวนี้ลองมาคิดในทางกลับกันถ้าตัวเราเป็นนักศึกษาวัยหนุ่มสาวแล้วโดนอาจารย์ตำหนิ ยิ่งถ้าทำต่อหน้าคนอื่นๆอีกด้วย เราจะรู้สึกอย่างไร ชื่นชมและขอบคุณในความเมตตาสั่งสอนของอาจารย์ซึ่งถึงขั้นยอมพลีชีพในบางครั้ง หรือว่านึกด่าและสาปแช่งกลับ คำตอบที่ให้มาดิฉันไม่ได้ให้เลือกนะคะ แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าจิตของคนคิดต่างๆกัน ถ้าเขาคิดในแง่บวกเราได้ผลานิสงส์จากสิ่งที่เราทำแน่นอน แต่ถ้าคิดตรงกันข้ามเราได้เจ้ากรรมนายเวรเพิ่มขึ้นอีกโดยไม่รู้ตัว เพราะจิตของเขาจะผูกใจเจ็บ ถ้าเราต้องสอนเขา ๑ เทอม และต้องบ่นซ้ำๆ กับเขา คิดว่าความเกลียดชังที่มีอยู่ในใจของเขาคงมากโขทีเดียว อ้าว!ถ้าเป็นอย่างนี้ครูจะทำอย่างไร ปล่อยให้มันตกเสียให้หมดเลยดีไหม กรรมใครก็กรรมมันไง ดิฉันคิดนะคะว่า “ได้” แต่เราต้องคุยกับเขาให้เข้าใจ ให้เหตุให้ผล พร้อมแนะนำแนวทางที่ถูกที่ควรให้ แบบไม่ต้องบ่นต้องว่า (ให้จิตเราเกิดโทสะ) ยินดีช่วยเหลือเมื่อเขามาขอคำปรึกษา และบอกกับเขาว่าถ้าไม่ทำอย่างที่แนะนำครูก็คงช่วยไม่ได้เช่นกัน ด้วยวิธีนี้ทุกฝ่ายน่าจะสบายใจ ครูก็เป็นรากลอย มีสติ หน้าตาก็แจ่มใส สดชื่น ไม่เป็นนางยักษ์ขมูขีใส่กัน บรรยากาศในห้องเรียนน่าจะดี ทุกคนน่าจะมีความสุข ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างท้อใส่กัน ครูก็ท้อไม่อยากสอน เด็กก็ท้อไม่อยากเรียน
แต่ถ้าเราทำไปแล้วเราจะแก้ไขได้ไหม ดิฉันก็คิดว่า “ได้” อีกนั่นแหละ ก็ทีศาสนาคริสต์เขายังมีสารภาพบาป ศาสนาพุทธของเราก็มีเหมือนกัน ถ้ามีงั้นต้องทำอย่างไร ไม่ยากคะ ดูคำขออโหสิเวร ขออโหสิกรรมวาจาที่เป็นเวร สิ่งต่างๆที่ไม่ดีก่อนสวดมนต์ ในบทการทำบุญ การสวดมนต์ และทำตามนั้น ถ้าทำแล้วใจยังกังวลถึงแต่เจ้านักเรียนหัวดื้อคนนั้นอีก ก็ให้แก้ต่อโดยทำถอนจิตที่เป็นทุกข์ (ดูในบทการถอนจิต อารมณ์ที่เป็นเวร) ถ้ายังไม่ดีอีกก็ใส่บาตรให้เขา ๑ ชุด เวลากรวดน้ำ ให้ระบุว่าขออุทิศบุญกุศลในการใส่บาตรให้แก่ มนุษย์ที่เป็นเวร เอ่ยชื่อ-นามสกุล นึกถึงหน้าเขาไปด้วยยิ่งดีคะจะได้ส่งบุญไม่ผิดคน หรือจะให้หลุดขาดกันจริงๆ ก็แถมสวดมนต์ บทสำคัญๆ เช่น ธรรมจักร ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก หรือคาถาชินบัญชร แล้วกรวดน้ำแห้งให้ไปเลย ดิฉันคิดว่า น่าจะจบกันนะคะ บางทีทำครั้งเดียวก็หลุด แต่บางเรื่องต้องทำซ้ำ เรื่องนี้ดิฉันพิสูจน์กับตัวเองแล้ว ถึงแม้เรื่องที่พิสูจน์ไม่ใช่เรื่องนักศึกษาแต่ก็เป็นเรื่องที่คล้ายๆกัน
ถ้าเรามนุษย์ทำกันได้อย่างที่อาจารย์เทศน์ก็คงจะดีนะคะ จิตทุกคนก็จะหลุดพ้น มีแต่ความใส คิดทำอะไรก็ทำด้วยสติเต็มๆไม่มีอกุศลกรรม มีอารมณ์มาเป็นตัวกำกับ ดิฉันยังคิดต่ออีกว่า ถ้าเราทำแก้เวรแก้กรรมอย่างนี้กันหมด พวกเราคงพากันนิพพานกันหมด ไม่ได้กลับมาเกิดอีก แต่ดิฉันก็ยังอยากที่จะเกิดมาเป็นลูก เป็นแม่ เป็นภรรยา เป็นพี่ เป็นญาติ เป็นเพื่อน เป็นครู เป็นศิษย์ กับคนที่ดิฉันรักอีก แล้วจะทำอย่างไร? ถ้าดิฉันยังคิดอย่างนี้อยู่ ดิฉันคิดว่าจิตของดิฉันคงกำลังหัวเราะเยาะดิฉันอยู่แน่ๆ ว่าแค่นี้ดิฉันก็สอบตกซะแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น