ประวัติลูกชายตัวใหญ่ (นายศรัณย์ ฮาตระวัง)
บิดา นายฉัตรแก้ว ฮาตระวัง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายโรงงาน บริษัทไทยซัมมิทออโตพารท์อินดัสทรีจำกัด
มารดา ผศ. พรพิมล ฮาตระวัง
ประจำสาขาศิลปศาสตร์ (ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ มหาวิทยาลัย RMIT เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
บิดามารดามีบุตรชาย ๒ คน นายศรัณย์ เป็นคนโต บุตรชายคนที่ ๒ ชื่อ นายธาวิน ฮาตระวัง ขณะนี้กำลังศึกษาเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ ๒ คณะเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ประวัติโดยสังเขปนายศรัณย์ ฮาตระวัง
ชื่อ นายศรัณย์ ฮาตระวัง (ศรัณย์ แปลว่า ที่พึ่ง)
ชื่อเล่น เฟิสท์ (First) พ่อบอกว่า ลูกเกิดวันที่ ๑ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑
วันเกิด วันจันทร์ที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๒๙ เวลา ๑๔.๔๒ ปีขาล (พ่อหมีดูลายมือ แล้วว่าเป็นดวงไม่โลดโผน ชีวิตจะเรียบง่ายเหมือนแม่ และถ้าจะไปไหนมาไหนให้เอาไปเป็นเพื่อนจะดี เพราะมีเส้นในมือบอกว่าเดินทางปลอดภัย)
สถานศึกษา
๑. ปี ๒๕๓๒ เข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลปิยวดี ขอนแก่น (ขณะนั้นอายุได้ ๒ ขวบครึ่ง ต้องรีบส่งเข้าโรงเรียน เพราะแม่มีน้องฟอร์ท(Fourth) อีกคน)
๒. ปี ๒๕๓๓ เข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลพัฒนาเด็ก ขอนแก่น
๓. ปี ๒๕๓๕ เข้าเรียนที่โรงเรียนพัฒนาวิทยา หมู่บ้านสีวลี กรุงเทพฯ (เนื่องจากแม่ลาเรียนต่อปริญญาโท ที่ สถาบัน เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)
๔. ปี ๒๕๓๘ เข้าเรียนที่โรงเรียนมหาไถ่ชาย ขอนแก่น ( เรียนเป็น top ten ของห้อง แม่หน้าบานได้ขึ้นรับรางวัลบนเวทีด้วยกัน แม่ยังบอกน้องฟอร์ทให้ทำตาม แต่สุดท้ายความลับก็แตก เฟิสท์เล่าให้ น้องฟังว่า“ พี่กาเดาเอา! ” พอมาปีสุดท้ายก่อนขึ้นมัธยมต้นพี่เฟิสท์ สอบได้ที่รองบ๊วย ที่ ๔๓ จากนักเรียนทั้งหมด ๔๔ คน ขณะที่ น้อง ฟอร์ทสอบได้ที่ ๒ น้องฟอร์ทมาเล่าให้พ่อฟังในตอนเช้า ส่วนพี่เฟิสท์ เดินเลียบๆเคียงๆอยู่ใกล้พ่อตั้งแต่เช้า จนบ่ายจึงตัดสินใจเดินเข้ามาคุยกับพ่อว่า “พ่อรู้ไหมว่า เฟิสท์ สอบได้เกือบสุดท้ายเขายังให้ เฟิสท์ ขึ้นชั้น เลย” พ่อฟังแล้วก็หัวเราะ คิดว่าเขาเป็นเด็กที่มีวิธีการพูดที่ดีพยายามหาวิธีมาพูดไม่ให้พ่อเสียใจ ด้วยวิธีพูดนี้เองทำให้พ่อเริ่มมองเห็นความสามารถพิเศษในด้านการเจรจาพาที และมองว่าอาชีพที่จะเหมาะกับเขาน่าจะเป็นด้านการพูดจา เช่น การตลาด จึงพยายามปลูกฝังแนวความคิด วิธีการตัดสินใจ เพื่อเป็นพื้นฐานด้านการเรียนในวันข้างหน้า
๕. ปี ๒๕๔๒ เข้าเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ๒ (โรงเรียนในเขตพื้นที่ เพราะสอบเข้าโรงเรียนในเมืองไม่ได้ ทั้งๆ ที่แม่ได้ตั้งสินบนไว้ ๕, ๐๐๐ บาท ถ้าสอบได้) ด้วยพรสวรรค์ในด้านการพูดที่มี พี่ First เปรยกับพ่อเมื่อพ่อเอา ใบเสร็จซ่อมรถราคา ๓๐,๐๐๐ บาทมาให้แม่ดู ลูกบอกว่าถ้าพ่อเอาเงินก้อนนี้ไปให้โรงเรียนในเมือง พี่ เฟิสท์ ก็ไม่ต้องมาเรียนโรงเรียนในเขตแต่อยู่นอกเมืองอย่างนี้ ตอนเรียนปีแรกพี่ First มาบ่นให้แม่ฟังว่าอาจารย์สอนภาษาอังกฤษสอนเหมือนอยู่อนุบาล ๓ แม่ก็เริ่มกังวลกลัวว่าลูกจะเบื่อการเรียนภาษาอังกฤษ (เพราะกว่าจะสร้างให้รักภาษาอังกฤษ พ่อกับแม่ร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นมาตั้งแต่ลูกทั้ง ๒ คนยังเล็ก อย่างเช่น พอ UBC มีโครงการเข้า ที่ขอนแก่น พ่อก็ติดตั้งให้ทันที ฝ่ายแม่ก็จะดูแลและเริ่มเข้าช่วยให้หัดฟังเพราะกลัวว่าลูกจะเบื่อและท้อไปก่อน) แม่จึงไปปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อหาหนทางช่วย แต่กลับกลายเป็นว่าอาจารย์สอนภาษาอังกฤษได้เข้ามาต่อว่าพี่ เฟิสท์ ในขณะที่สอนว่า “นายศรัณย์ ถ้าเธอเป็นลูกผู้ชายจริง เธอตอบมาตรง ๆ ว่าเธอว่าครูสอนเธอเหมือนเธอ เรียนชั้น ป ๓ ใช่ไหม? ” พี่เฟิสท์ ตอบว่า “ไม่ใช่ครับ คุณครูสอนเหมือนอยู่อนุบาล ๓ ครับ” แม่ก็ถามว่า ‘พี่เฟิสท์ ตอบอย่างนั้นคุณครูเขาจะไม่โกรธหรือ’ พี่เฟิสท์ ตอบว่า ‘ก็คงโกรธ’ เพราะหลังจากนั้น คุณครูจะเรียกพี่เฟิสท์ ตอบมากกว่าเพื่อน และถ้าใบคำสอนไม่พอพี่เฟิสท์ ก็จะเป็นคนที่ไม่ได้ เพราะครูบอกว่าเธอเก่งแล้วไม่ต้องเอาหรอก แต่การตัดสินใจในเรื่องต้องการให้ลูก เป็นหัวหมาดีกว่าหางราชสีห์จึงให้เรียนที่นี่ เพราะรู้ว่าพื้นฐานความรู้ของลูกไม่ได้ด้อยกว่าใครเพียงแต่ยังเด็กและห่วงเล่น และก็เป็นไปตามคาด พี่เฟิสท์ เริ่มเรียนดีขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มฉายแววผู้นำ มีเรื่องมาเล่าให้พ่อแม่ฟังอยู่เสมอๆ ครั้งหนึ่งพี่เฟิสท์ บอกพ่อว่าคุณครูชวนให้พี่เฟิสท์ เข้าสมัครสอบโครงการ AFS เพราะเห็นความสามารถด้านภาษาอังกฤษ พ่อกับแม่ก็สนับสนุน แต่พี่เฟิสท์ ก็ยังสนุกกับเพื่อนและไม่ได้สมัคร
๖. ปี ๒๕๔๕ สามารถสอบเข้าเรียนต่อมัธยมปลายสายภาษาอังกฤษได้ที่โรงเรียนกัลยาณวัตร ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดขอนแก่น ที่อยู่ในเมือง พร้อมกับรับเงินค่าอัดฉีดของแม่ ๕,๐๐๐ บาท พี่เฟิสท์ มีความสุขมาก เริ่มเป็นที่รักของเพื่อนและครูบาอาจารย์รวมถึงสาวสาวรุ่นน้อง น้องฟอร์ทเล่าว่า ขนาดกำลังเข้าแถวสวดมนต์ตอนเช้าพอเสียงมอเตอร์ไซด์ พี่เฟิสท์ ดังเข้ามาในโรงเรียน (เพราะท่อไอเสียที่ดังไม่เหมือนของใคร) สาวสาวยังพากันหยุดสวดมนต์และกระซิบกันว่า “พี่เฟิสท์ มาแล้ว!”
๗. ปี ๒๕๔๘ เข้าเรียนที่ ABAC (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ) สาขา BBA ขณะที่เรียน Intensive Course พี่เฟิสท์ ก็ปรึกษากับพ่อว่า ‘พ่อครับเฟิสท์ ว่าถ้าเรียน Basic English ผ่านต้องเรียน English 1 ต่อ เฟิสท์ กลัวว่าพื้นฐานคงสู้เขาไม่ได้ เพราะเพื่อนๆเขามาจากโรงเรียนดังๆทั้งนั้นเลย ถ้าเฟิสท์ตกก็คงจะดีเหมือนกันนะจะได้ลงเรียน Basic English ใหม่พื้นฐานจะได้แน่นๆ” พ่อหัวเราะในเหตุผลของพี่เฟิสท์ และเขาก็ไม่ผ่านจริงๆ (ขาด ๒ คะแนน) และคุยโม้กับพ่อว่า ลงใหม่ครั้งนี้เฟิสท์ ผ่านแน่นอน และอาจารย์ก็ให้พี่เฟิสท์ ผ่านโดยไม่ต้องสอบ final ในวิชา Basic English อาจารย์ที่ปรึกษาให้ ลงเรียน English 1 ต่อ และเขาก็สอบผ่านแล้ว สำหรับการสอบในภาคเรียนนี้ผลบางตัวก็ออกมาผ่านแล้ว และเขาก็พาพ่อไปดูเกรดก็เห็นว่าเขาปรับตัวได้ดีขึ้น และมีทิศทางไปในทางที่ดี
คืนวันศุกร์ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๙ หลังสอบเสร็จ เวลาประมาณทุ่มครึ่ง พี่เฟิสท์ ขับรถออกไปกับเพื่อนๆ ๕ คน จากมหาวิทยาลัยวิทยาเขตบางนาไปทานข้าวที่วิทยาเขตหัวหมาก ขณะขับรถกลับบนถนนบางนา-ตราด กม.๒๖ ประมาณ ๒๐๐ เมตรก่อนจะถึงทางเลี้ยวเข้ามหาวิทยาลัย เป็นช่วงต่อคอสะพาน ทำให้รถกระโดดที่คอสะพาน และมีรถพ่วงข้างหน้าจึงหักหลบรถพ่วงออกไปทางด้านขวา รถเกิดเสียหลักไปชนรั้วเหล็กทางด้านขวาและอาจเกิดความตกใจจึงหักกลับมาทางด้านซ้ายชนเข้ากับเสาไฟฟ้าด้านข้างคนขับ ทำให้เสียชีวิต ส่วนเพื่อนๆที่ไปด้วย ๕ คน บาดเจ็บ ๓ คน อีก ๒ คน ปลอดภัย
ช่วงขณะที่มีชีวิตอยู่ ๑๙ ปี ๑ เดือน ๑๓ วัน พี่เฟิสท์ เป็นที่รักใคร่ของพ่อแม่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา รวมถึงน้องๆ และเพื่อนๆ เพราะความเป็นคนช่างพูด ช่างเข้าใจผู้อื่น การจากไปในครั้งนี้ของพี่เฟิสท์ นำมาซึ่งความเสียใจของบุคคลอันเป็นที่รักที่อยู่รอบๆข้าง
ถึงจะอย่างไรก็ตามการจากไปในครั้งนี้ของพี่เฟิสท์ พ่อ แม่ และ น้อง คิดว่าเป็นการจากไปเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ตัดสินใจไม่กลับเมืองไทยและแต่งงานมีครอบครัวที่ต่างประเทศ และบอกพ่อแม่ว่าหลังจากพ่อแม่เกษียณและในบั้นปลายชีวิต ถ้าพ่อแม่คิดถึงพี่เฟิสท์ ให้พ่อและแม่ไปเยี่ยมพี่เฟิสท์ พี่เฟิสท์ จะคอยพ่อและแม่อยู่ที่โน่น
จากพ่อแม่และน้อง
รักแระคิดถึงเสมอ
ตอบลบคิดถึงเฟิสท์นะ😊
ตอบลบ